ทำความรู้จัก สวนนงนุช พัทยา สถานที่ท่องเที่ยวระดับห้าดาวแห่งอีอีซี กับดีกรี สวนสวยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก
จากรายการ EEC Focus ที่นำเสนอทางช่องทาง TNN ONLINE ในช่องยูทูป Youtube ทำให้เราได้ทราบถึงข้อมูลของ สวนนงนุชพัทยา ที่ถ้าใครเคยไปอาจนึกภาพของสวนสวยอันยิ่งใหญ่นี้ออก ทว่า สำหรับคนที่ยังไม่เคยไป เชื่อเหลือเกินว่า ถ้าได้รู้ความยิ่งใหญ่และศักยภาพของ สถานที่ท่องเที่ยวแห่งอีอีซี แห่งนี้แล้วจะต้องอ้าปากค้างด้วยความทึ่งว่านอกเหนือจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้ว ที่ สวนนงนุช ยังมีบริการอื่นๆ แบบครบวงจร ตอบโจทย์นักเดินทางในทุกรูปแบบขนาดนี้เชียวหรือ
- สวนนงนุชพัทยา ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 1,700 ไร่ ที่ผ่านมาได้เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก วันหนึ่งจะมีผู้เข้าเยี่ยมชมไม่น้อยกว่าวันละ 5,000 คน เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2523 มาถึงวันนี้เป็นเวลา 40 ปีแล้ว
- ได้รับการยกย่องให้ติด 1 ใน 10 ของสวนที่สวยที่สุดในโลก โดยได้รับการการันตีจากเว็บไซต์ทั่วโลก พร้อมรางวัลเกียรติยศมากมาย
- เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละช่วงวัยที่จะมาสนุกด้วยกันที่นี่ ไม่ว่าจะเป็น โชว์ช้างแสนรู้ หรือเที่ยวชมสวนสวยที่มีการจัดภูมิทัศน์ไว้อย่างสวยงาม นอกจากนั้น ในช่วงวันหยุดยาว หรือเทศกาลสำคัญ ยังจัดให้มีการแสดงวัฒนธรรมไทยร่วมสมัยให้ผู้เข้าชมได้ชมกันด้วย
- เป็นสถานที่ศึกษา เรียนรู้ พืชพันธุ์ไม้เขตร้อน ที่รวบรวมไว้มากกว่า 1,800 ชนิด
- มี ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุชพัทยา หรือ NICE ขนาดพื้นที่ใช้สอยโดยรวม – 15,500 ตร.ม. รองรับผู้ใช้บริการได้กว่า 5,000 คน จึงสามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมไมซ์ หรืออุตสาหกรรมการจัดประชุม นิทรรศการ และอีเวนต์ ระดับชาติและระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น การประชุมบริษัทข้ามชาติ การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การจัดประชุมนานาชาติ และการจัดนิทรรศการรูปแบบต่างๆ
- สามารถรองรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังการจัดประชุม สัมมนา ตอบโจทย์การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบครบวงจร ในพื้นที่อีอีซี พื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศอย่างแท้จริง
- ห้องประชุม ทั้ง 3 Halls มาพร้อมการบริการ เทคโนโลยี ระบบ แสง สี เสียง แบบฟูลออปชั่น
- มีลานอารีน่า 1&2 ตั้งอยู่ที่ นงนุช เทรดดิชั่น ฮอลล์ หรือ สวนนงนุช 2 โดย ลานอารีน่า 1 มีพื้นที่ 6,183 ตารางเมตร พร้อม จอ LED และเทคนิคแสง สี เสียง ครบครัน
- มี Agricultural Garden เป็นแหล่งเรียนรู้ ที่เปิดให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้การทำแปลงเกษตรอัจฉริยะ ที่ใช้เทคโนโลยี Internet of Things หรือ IoT ในการบริหารจัดการสวนนี้
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นกิจการที่นอกจากต้องดำเนินการโดยผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลแล้ว ยังต้องอาศัยพนักงานเป็นพันชีวิตในการจัดการ ดูแล ทุกส่วน ให้เรียบร้อย สวยงาม ด้วย โดยตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้น ผู้บริหารของสวนนงนุช กัมพล ตันสัจจา ก็ตั้งปณิธานไว้ชัดเจนว่า จะทำทุกอย่าง เพื่อรักษาพนักงานทั้งหมดไว้ จำนวนกว่า 1,600 ชีวิต ให้ยังคงมีรายได้เลี้ยงปากท้องต่อไป และร่วมฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
กัมพล ตันสัจจา กับ กลยุทธ์สู้ไม่ถอย ในวันที่ธุรกิจถูกจู่โจมด้วยวิกฤตโรคระบาด แบบไม่ทันตั้งตัว
ที่ผ่านมา สถานที่ท่องเที่ยวในพัทยาได้ทยอยปิดกิจการลงชั่วคราว ด้วยเหตุผลที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมา เป็นหลัก และยังเป็นการปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ด้วย เช่นกันกับทาง สวนนงนุชพัทยา ที่ปิดให้บริการชั่วคราวไปตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา
มาในวันนี้ บอสใหญ่ของสวนนงนุชพัทยา กัมพล ตันสัจจา ได้มาให้สัมภาษณ์ให้ฟังถึงกลยุทธ์การพา สวนนงนุชพัทยา ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปให้ได้ โดยให้ความสำคัญกับการรักษาพนักงานทั้งหมดไว้ให้ได้
“ในช่วงที่เราปิดให้บริการชั่วคราว พนักงานก็ยังอยู่กับเรา ทำหน้าที่ของเขาอย่างเต็มที่ อย่างพนักงานทำสวน ก็ดูแลสวนอยู่ทุกวัน เหมือนช่วงปกติ เพราะผมมีแนวคิดว่า เราต้องเตรียมสถานที่ของเราให้พร้อม เพื่อวันที่วิกฤตโควิดนี้ผ่านพ้นไป ฟ้าเปิด เราจะได้พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวมาเที่ยวได้ทันที”
ต่อมา กัมพล ได้เล่าย้อนกลับไปในช่วงประมาณ 1 เดือน ก่อนที่ทางสวนนงนุชจะต้องปิดให้บริการชั่วคราวว่า ในช่วงนั้น นักท่องเที่ยวลดน้อยลงเรื่อยๆอย่างเห็นได้ชัด แต่ทางสวนนงนุชก็ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อวิด-19 อย่างครบถ้วน มาตั้งแต่มีข่าวการระบาดของโรคนี้ ไม่ว่าจะเป็น การตรวจวัดอุณหภูมิเพื่อคัดกรองผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ การจัดวางเจลแอลกอฮอล์ ตามจุดต่างๆทั่วสวน การกำชับให้พนักงานทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัย เป็นต้น
“ก่อนที่เราต้องปิดบริการลงชั่วคราวไม่นาน นักท่องเที่ยวต่างประเทศ 2 ชาติสุดท้าย คือ รัสเซีย อินเดีย ก็ค่อยๆหายไป มาถึงวันนี้ผมมองไว้ว่า แม้จะเปิดให้สนามบิน รับนักท่องเที่ยวให้เดินทางกลับมาเที่ยวที่เมืองไทย ก็ยังต้องใช้เวลานานมากกว่าที่จะมีปริมาณนักท่องเที่ยวเท่าจำนวนก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิดนี้”
“เพราะวิกฤตครั้งนี้ ตั้งแต่ทำธุรกิจมา ถือว่าร้ายแรงที่สุด แทบจะมองหาทางออกไม่เจอเลย ทุกคน ทุกกิจการ ต้องหยุดกันทั้งประเทศและทั้งโลกด้วย”
“แต่ไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะมัวมองแต่ในด้านของผลกระทบ ผลเสีย หรือวิกฤต แต่เราควรมองว่า ช่วงเวลานี้เราจะทำอะไรเพื่อให้พนักงานของเรายังมีงานทำ ควรรัดเข็มขัดในเรื่องไหน เมื่อคิดได้แบบนี้ ที่ผ่านมา ทางสวนนงนุชของเราได้ประคองธุรกิจด้วยการหามาตรการตั้งรับที่เป็นทางออกที่ดีที่สุด อย่างการปรับลดเงินเดือนพนักงานประมาณ 20% ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลง
“พร้อมกันนี้ได้นำนักแสดงจากโรงละครของสวน มาพัฒนาฝีมือในด้านต่างๆ เพื่อให้พวกเขามีความชำนาญเฉพาะด้านเพิ่มขึ้น พร้อมกันนี้ยังมีการปรับสวนนงนุชในรูปแบบใหม่ให้มีความสวยงาม และสามารถแข่งขันกับแหล่งท่องเที่ยวของประเทศอื่นๆ เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น เราจะได้พร้อมทันทีกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวในสวนนงนุชอีกครั้ง”
นอกจากมาตรการปรับตัว เพื่อพากิจการฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้แล้ว ที่ผ่านมา ยังเกิดไอเดียใหม่ๆขึ้นด้วย
“จากการที่เราได้ทำแปลงปลูกผักอินทรีย์ไว้ในสวนนงนุช ในช่วงวิกฤตนี้ เราเลยนำผักเหล่านี้เองมาปรุงอาหารเพื่อจำหน่ายให้พนักงานในราคาถูกที่สุด ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้เขาสามารถหาอาหารรับประทานได้ในที่พักที่อยู่ในบริเวณสวนนงนุชเลย ช่วยให้พวกเขาไม่ต้องออกไปซื้ออาหารข้างนอก ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่จะนำเชื้อโรคมาแพร่ในพื้นที่ของเราได้”
“และช่วงที่ผ่านมา เราไม่ได้แค่ใช้เวลาไปกับการดูแลสวนหรือภูมิทัศน์เดิมที่เรามีอยู่เท่านั้น ทว่า ผมยังไม่หยุด คิด ทำ นำเสนอ สวนในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้ในวันที่เราเปิดทำการอีกครั้ง นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยว จะได้เห็นโซนสวนสวยในรูปแบบใหม่ๆ สร้างความตื่นตาและสร้างการจดจำให้เขาได้ด้วย”
เมื่อถามถึงบทเรียน ที่ กัมพล มองว่า ทุกภาคส่วนและชาวไทยได้รับจากวิกฤตนี้ ผู้บริหารท่านนี้ กลับขอตอบด้วยการชี้แจงให้เห็นจุดดี จุดเด่น และความโชคดีของประเทศไทย ที่วิกฤตในครั้งนี้เหมือนจะช่วยมาส่องสปอตไลท์ ให้คนทั่วโลกได้มองมาที่ประเทศไทยได้ชัดเจนขึ้น
“จริงๆแล้ว ผมว่าประเทศไทยมีความโชคดี เรามีความอุมดมสมบูรณ์ไม่ได้ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนอาหาร วัตถุดิบ อะไรก็ตาม แม้จะอยู่ในช่วงวิกฤตโรคระบาดเหมือนในอีกหลายประเทศบนโลกใบนี้เลย”
“ผมจึงมั่นใจว่าต่อไปชาวต่างชาติจะมองประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีความปลอดภัย อุดมสมบูรณ์ มีความมั่นคงทางอาหาร และคิดว่าต่อไป แม้จะเกิดวิกฤตแบบนี้ขึ้นอีก ประเทศไทย ก็จะไม่ตกอยู่ในภาวะย่ำแย่เหมือนในอีกหลายประเทศแน่นอน”
ฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังวิกฤตโควิดอย่างไร ให้แปลกใหม่และตื่นตา ตามแบบฉบับสวนนงนุช
หลังจากผ่านเหตุการณ์วิกฤตโควิด-19 ไปได้ สิ่งแรกที่ผู้บริหารท่านนี้อยากเห็น เพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวไปด้วยกัน นั่นคือ
“สิ่งที่ทางภาครัฐต้องทำอย่างเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว คือ การกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ชวนคนไทยเที่ยวเมืองไทย ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในโลกต่างประสบปัญหาทั้งหมด ดังนั้น การหวังพึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติเหมือนที่ผ่านมา จึงใช้ไม่ได้กับสภาวะที่แต่ละประเทศจะต้องหันมาฟื้นฟูบ้านเมือง ก่อนที่จะคิดวางแผนเดินทางท่องเที่ยว”
“อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว ให้กลับมาเติบโตได้หลังวิกฤตโควิด-19 ผมมองว่าส่วนหนึ่ง จำเป็นต้องอาศัยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือเยียวยาเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล ที่ต้องออกมาตรการมาช่วยเยียวยาและส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวในทุกระดับให้กลับมายืนได้อย่างมั่นคงอีกครั้ง”
“ส่วนในภาคของผู้ประกอบการท่องเที่ยวเอง ผมมองว่าวิกฤตครั้งนี้ทำให้แต่ละคนได้มาทบทวนตัวเองว่าจะปรับกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจอย่างไร ให้เหมาะกับไซซ์ ขนาด ศักยภาพ และเงินทุนของตน ซึ่งแน่นอนว่าในเรื่องนี้ไอเดียหรือแนวคิดทุกคนก็แตกต่างกันไป”
นอกจากนั้น ในส่วนของนโยบายและมาตรการของภาครัฐที่ควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในตอนนี้ กัมพลมองว่าเป็นการวางมาตรการที่เหมาะสมแล้ว แต่ที่เขาเป็นห่วงคือ การตัดสินใจที่จะเปิดหรือผ่อนปรนมาตรการเร็วเกินไป จนทำให้วิกฤตกลับเข้ามาเป็นระลอกที่สอง ตอนนี้ควรคุมให้อยู่แบบนี้ก่อนจะดีกว่า
“มาตรการต่อไปที่ผมมอง ผมมองไปถึงตอนที่วิกฤตตรงนี้คลี่คลาย ในฐานะที่สวนนงนุช เป็นเหมือนแหล่งท่องเที่ยวประเภทที่สองของพัทยา ที่อย่างแรกคนมาที่นี่ต้องไปเที่ยวทะเลพัทยา ต่อมาจึงมาหาแหล่งท่องเที่ยวประเภทอื่น แบบ สวนนงนุช ดังนั้น สิ่งที่ผมพยายามสร้างอยู่ตลอด คือ ความแปลกใหม่ อย่าง สวนลอยฟ้า ที่ผมทำอยู่ ผมมองว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็น Man made ที่สวยงาม เทียบเท่ากับ Garden by the bay ที่สิงคโปร์ ได้เลย”